วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ศิลปะภาคใต้

การแสดงรองเง็งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันมีการใช้ในการต้อนรับแขกต่างๆที่มาเยี่ยมเยือน ใช้เป็นพิธีในการเปิดภาคสนามแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียน หรือว่าระดับจังหวัด พิธีงานฮารีรายอในเดือนรอมฎอลของชาวมุสลิม  พิธีงานมงคลสมรสต่างๆที่มีการจัดขึ้น หรือตลอดจนกระทั่งในการพิธีรื่นเริงสำราญต่างๆที่ได้จัดขึ้นในงานประจำปีหรือเทศกาลต่างๆ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พายุเดสาด

พายุที่เกิดในประเทศจีน  

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยพายุเนสาด ฉบับที่ 5 เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (30 ก.ย. 54) พายุไต้ฝุ่นเนสาด (NESAT) บริเวณตอนเหนือของเกาะไหหลำเคลื่อนลงอ่าวตังเกี๋ยแล้วและได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน มีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกของกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามประมาณ 300 กม. หรือที่ละติจูด 20.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กม./ชม. และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 18 กม./ชม. คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนตัวขึ้นชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในวันนี้ ขอให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้บริเวณ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครนายก จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ยังคงมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่อาจเกิดขึ้น สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
สาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม  ทุกระดับชั้น
ประเด็นการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
นักเรียนควรนำความรู้เรื่องพายุเดสานไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
นักเรียนควรศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
การบูรณาการ  ศีลป วาดภาพ   ภาษาไทย  เขียนประวัติการเกิดพายุเดสาน
ที่มาแหล่งข้อมูลhttp://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=531674

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำ

คนไทยเชื่อถือกันว่าหากมีแมวดำข้ามโลงศพ ศพนั้นจะเฮี้ยนนัก หรือแม้แต่มันเดินผ่านหน้าก็ถือว่าจะเป็นลางร้าย

ความผูกพันระหว่างคนกับแมวในลักษณะของความเชื่อมีมาแต่โบราณกาลแล้ว เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล แมวทุกตัวในสมัยนั้นรวมทั้งแมวดำจะได้รับการยกย่องมาก มีกฎคุ้มครองไม่ให้ผู้ใดทำร้ายหรือฆ่าแมว หากครอบครัวใดมีแมวตาย คนในครอบครัวนั้นจะเศร้าโศกมาก และสำหรับศพของมันไม่ว่าเจ้าของจะยากดีมีจนเพียงใดก็จะแต่งตัวให้แมวอย่างสวยงาม ใช้ผ้าลินินเนื้อนุ่มห่อศพเอาไว้เหมือนมัมมี่แล้วเก็บในโลงที่ทำจากโลหะมีค่าเช่น บรอนช์ หรือทำด้วยไม้ซึ่งเป็นของที่หายากมากในอียิปต์

เมื่อราว ๒,๐๐๐ ปี ก่อนมีข้อเขียนภาษาสันสกฤตพูดถึงบทบาทของแมวในสังคมอินเดีย ส่วนในจีนเมื่อราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาลมีหลักฐานว่าขงจื๊อเลี้ยงแมวตัวโปรดอยู่ตัวหนึ่ง ประมาณ ค.ศ. ๖๐๐ นักพยากรณ์ชื่อ มูฮะมัด ท่องบทสวดพร้อมกับอุ้มแมวไว้ด้วยและในช่วงเดียวกันนี้ชาวญี่ปุ่นก็เริ่มเลี้ยงแมวในสถูปเจดีย์เพื่อรักษาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคนอียิปต์เมื่อเห็นแมวตกจากที่สูง ๆ แล้วไม่เป็นอะไรก็รู้สึกทึ่ง จึงเริ่มเชื่อกันว่าแมวมี ๙ ชีวิต อย่างไรก็ตามในระหว่างหลายศตวรรษนั้น หากแมวเดินผ่านหน้าใครก็ถือเป็นเรื่องโชคดีของคนนั้น

ความหวาดกลัวแมวโดยเฉพาะแมวดำเริ่มขึ้นที่ยุโรปในยุคกลาง ที่เห็นชัดเจนก็ในอังกฤษ

แมวมีนิสัยรักอิสระ ดื้อ ชอบขโมย และยังสามารถเพิ่มจำนวนพลเมืองแมวได้อย่างรวดเร็วตามเมืองใหญ่ ๆ ดังนั้นความงามสง่าของมันจึงดูลดน้อยลงในสายตาของผู้คน แมวที่พบเห็นอยู่ตามตรอกมักเลี้ยงกันในหมู่คนยากจนและหญิงชราที่ถูกทอดทิ้งต่อมาเมื่อความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เวทมนตร์ระบาดไปทั่วยุโรปหญิงชราไร้บ้านเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเล่นไสยศาสตร์ และแมว (โดยเฉพาะแมวดำ) เพื่อนยากของพวกเธอก็ถูกมองว่าเป็นพวกแม่มดหมอผีไปด้วย

ที่ประเทศอังกฤษมีนิทานพื้นเมืองเกี่ยวกับแมวเรื่องหนึ่งสะท้อนความคิดของคนในสมัยนั้นได้ดี เรื่องมีอยู่ว่าที่เมืองลินคอล์นไชร์ เมื่อทศวรรษ ๑๕๖๐-๑๕๖๙ ในคืนเดือนมืดคืนหนึ่งสองพ่อลูกเห็นสิ่งที่มีชีวิตขนาดเล็กเดินย่องผ่านหน้าพวกเขา ลอดเข้าไปในช่องเตี้ย ๆ ด้วยความกลัวจึงขว้างก้อนหินออกไป ก็ปรากฏว่ามีแมวดำบาดเจ็บโผล่ออกมา แล้วเดินกะเผลกไปบ้านข้าง ๆ ซึ่งเป็นบ้านของผู้หญิงที่คนทั้งเมืองสงสัยว่าเป็นแม่มด วันต่อมาพ่อลูกคู่นี้ก็พบหญิงคนนี้เดินอยู่ ใบหน้าของเธอมีแผลเป็นรอยถลอก และมีผ้าพันแขนเอาไว้ เวลาเดินขาก็กะเผลก ๆ จากวันนั้นเป็นต้นมาชาวเมืองลินคอล์นไชร์จึงพากันระแวงว่าแมวดำคือแม่มดที่แปลงตัวมาในยามค่ำคืน

ปลายสมัยกลางมีหลายประเทศที่พยายามจะทำลายแมวให้สูญพันธุ์ เพราะโรคกลัวแม่มดระบาดไปทั่ว หญิงที่ไม่มีความผิดและสัตว์เลี้ยงน่าเอ็นดูที่ไม่มีพิษภัยถูกเผาตายเป็นจำนวนมาก แม้เด็กทารกที่เกิดมาแล้วมีดวงตาเป็นประกาย ใบหน้าเจ้าเล่ห์เกินไปมีบุคลิกแก่แดดเกินไป ก็จะถูกสังเวยความกลัวนี้ เพราะเชื่อว่าแกมีวิญญาณสิงอยู่และจะเติบโตเป็นแม่มดหรือพ่อมดซึ่งกลายร่างเป็นแมวดำในตอนกลางคืน ที่ฝรั่งเศส แต่ละเดือนแมวหลายพันตัวถูกเผา จนทศวรรษ ๑๖๓๐-๑๖๓๙ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๘ จึงทรงสั่งให้หยุดการกระทำอันน่าอดสูนี้

แม้แมวดำจะถูกฆ่าทิ้งไปเป็นจำนวนมากทั่วทั้งยุโรปเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่น่าแปลกที่พันธุกรรมของขนแมวสีดำกลับไม่เคยถูกลบเลือนไปจากเผ่าพันธุ์ของมัน... หรือแมวจะมี ๙ ชีวิตจริง ๆ

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

คุณธรรมและจริยธรรม

                                  คุณธรรมและจริยธรรม
 
 
       คำว่า คุณธรรม ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง สภาพของคุณงามความดี ส่วนคำว่า จริยธรรม ตามความหมายแยกออกเป็น 2 คำคือ จริย หมายถึง การประพฤติปฏิบัติ และ ธรรม หมายถึง คุณความดี ความจริง ความถูกต้อง,กฎ,กฎเกณฑ์,กฎหมาย หลักคำสอนในศาสนาหากจะสรุปรวมทั้งคุณธรรม และจริยธรรม ตามความเข้าใจของผู้เรียบเรียงคงหมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ทั้งกาย วาจา และใจ ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงคำว่าคุณธรรมก็มักจะกล่าวถึงคำว่าจริยธรรมรวมกันไปด้วย

ในเรื่องของคุณธรรม และจริยธรรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ หลักราชการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักคุณธรรม และจริยธรรมในวิชาชีพข้าราชการที่สำคัญยิ่งสำหรับให้ข้าราชการพึงยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติราชการ 10 ประการ มีใจความสำคัญ สรุปได้ดังนี้

           1. ความสามารถ หมายถึง ความชำนาญในการปฏิบัติงานในด้านต่างๆให้เป็นผลสำเร็จได้ดียิ่งกว่าผู้มีโอกาสเท่าๆกัน

           2. ความเพียร หมายถึง ความกล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความลำบาก และบากบั่นเพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้โดยใช้ความวิริยภาพมิได้ลดหย่อน

          3. ความมีไหวพริบ หมายถึง รู้จักสังเกตเห็นโดยไม่ต้องมีใครเตือนว่า เมื่อมีเหตุเช่นนั้นจะต้องปฏิบัติการอย่างนั้น เพื่อให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่กิจการทั่วไปและรีบทำการอันเห็นควรนั้นโดยฉับพลัน

         4. ความรู้เท่าถึงการณ์ หมายถึง รู้จักปฏิบัติการอย่างไรจึงจะเหมาะสมแก่เวลา และอย่างไรที่ได้รับเหตุผลสมถึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด

         5. ความซื่อตรงต่อหน้าที่ หมายถึง ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบให้เป็นหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

         6. ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป หมายถึง ให้ประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนที่เขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้

          7. ความรู้จักนิสัยคน ข้อนี้เป็นข้อสำคัญสำหรับผู้มีหน้าที่ติดต่อกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย

          8. ความรู้จักผ่อนผัน หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวว่าเมื่อใดควรตัดขาดและเมื่อใดควรโอนอ่อนหรือผ่อนผันกันได้ มิใช่แต่จะยึดถือหลักเกณฑ์หรือระเบียบอย่างเดียว ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสีย ควรจะยืดหยุ่นได้

         9. ความมีหลักฐาน ข้อนี้ประกอบด้วยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ มีบ้านอยู่เป็นที่เป็นทางมีครอบครัวอันมั่นคงและตั้งตนไว้ในที่ชอบ

         10. ความจงรักภักดี หมายความว่า ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แห่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระราชทานคุณธรรม 4 ประการ แก่ข้าราชการและประชาชนในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีข้อความดังนี้

       ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง รู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อส่วนใหญ่ของบ้านเมืองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

       ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ ความดีนั้น

     ประการที่สาม คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออม ไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

     ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรม 4 ประการ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้วจะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์

นอกจากนี้จะขอนำคุณธรรมของคนที่เป็นผู้นำ 8 ประการ มากล่าวไว้ เพื่อให้คนที่เป็นผู้นำและคนที่ต้องการจะเป็นผู้นำ ได้นำไปศึกษาและนำไปประพฤติปฏิบัติตามสมควรแก่ตนต่อไป

          ประการที่ 1 ความอดทน หมายถึง การห้ามจิตใจ เมื่อได้พบกับเหตุการณ์อันจะก่อให้เกิดเรื่องหรือแสดงกิริยาไม่ดีออกมา ต้องมีความอดทน ไม่หุนหันพันแล่น เช่น อดทนต่อความยากลำบากในขณะที่ทำการงาน ไม่เห็นแก่ความหนาว ความร้อน เช้าสายบ่ายค่ำ อดทนต่อความเจ็บใจ ในเมื่อคนอื่นทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่ตน ไม่ด่วนโมโหโกรธา

         ประการที่ 2 ความเป็นนักสู้ หมายถึง เป็นผู้เข้มแข็ง กล้าหาญ หนักเอาเบาสู้ มุ่งความสำเร็จกิจการงานเป็นที่ตั้ง ไม่หลงคำยอ ไม่ท้อคำติ มุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆ ปฏิบัติงานทุกอย่างให้บรรลุเป้าหมาย

          ประการที่ 3 ความเป็นผู้ตื่น หมายถึง เป็นคนตื่นตัว ว่องไวต่อปัญหาตลอดเวลา มีความคิดก้าวหน้า ริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดยืดหยุ่น รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถที่จะนำความคิดออกมาใช้ให้ทันต่อสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

         ประการที่ 4 ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง มีความวิริยะอุตสาหะ มีความจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เป็นทาสของความเกียจคร้าน มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

       ประการที่ 5 เมตตากรุณา หมายถึง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล โอบอ้อมอารีในลักษณะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชาคุณความดี แล้วแต่เวลา สถานที่และบุคคล มีความรักและความหวังดีเป็นที่ตั้ง

       ประการที่ 6 ความยุติธรรม หมายถึง มีความเที่ยงธรรม เสมอภาคในคนทุกประเภท ไม่แบ่งแยกพวกเขาพวกเรา ไม่มีอคติ คือ ความลำเอียง ซึ่งความลำเอียงนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 อย่างคือ ลำเอียงเพราะความรัก ลำเอียงเพราะความโกรธ ลำเอียงเพราะความกลัว และลำเอียงเพราะความหลง การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งก็พิจารณาจากความรู้ ความสามารถและคุณธรรมความดี ผู้นำที่ปฏิบัติได้ดังนี้ ย่อมเป็นที่รักของหมู่ชน ได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมความดี มาเป็นบริวารอยู่เสมอ

        ประการที่ 7 การหมั่นตรวจตรากิจการงาน หมายถึง การสอดส่องดูแลการงานอยู่เสมอ เมื่อพบข้อบกพร่องก็รีบแก้ไข อย่าปล่อยไว้จะลำบากในการแก้ไข และตรวจตราดูลำดับความสำคัญก็ควรทำงานนั้นก่อน งานไหนควรทำเอง งานไหนควรแบ่งมอบหมายให้คนอื่นรับผิดชอบ รวมทั้งต้องรู้จักแบ่งงานให้ถูกกับคนด้วย คนที่มีความรู้ ถนัดสามารถในเรื่องไหน ก็มอบหมายเรื่องนั้นให้ทำ

       ประการที่ 8 ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง มีความซื่อตรง มั่นคงอยู่ในศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น มีความสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ
 
    ที่มา    http://winterwaltz.exteen.com/20070601/entry

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เพื่อไทย”ยื่นยุบ”ปชป.-ภท.”

ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นกกต.ยุบพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ฐานใส่ร้ายป้ายสีพรรค และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ
ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค แถลงว่า เช้าวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย กรณีกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นสั่งการให้สมาชิกใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยและนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศด้วยความเท็จ จากนั้นเวลา 15.00 น.วันเดียวกันนายสุรพงษ์ จะเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท เพื่อดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง ฐานใส่ร้ายด้วยความเท็จและหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์

ส่วนกรณีว่าที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ท้าให้พรรคเพื่อไทยฟ้องร้องรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยนั้น โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์อย่าโยนบาปให้รัฐบาลญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเพียงแค่ออกวีซ่าเข้าประเทศให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งถือเป็นอธิปไตยของประเทศญี่ปุ่นแต่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำมาเล่นเป็นประเด็นการเมืองเพื่อหวังทำลายรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


ที่มา  http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=8&contentID=158632

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระประสูติกาล


พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว
ก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมเหสีรับราชการอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ พระอินทราณี (แต่งตั้งในปี พ.ศ. 2464, พระสุจริตสุดา (แต่งตั้งในปี พ.ศ. 2464)และพระนางเธอลักษมีลาวัณ (แต่งตั้งในปี พ.ศ. 2465)ต่อมาพระอินทราณีได้ตั้งพระหน่อ จึงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรราชชายาเธ] และพระบรมราชินี ตามลำดับ แต่ภายหลังได้ทรงแท้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงล้มเหลวต่อการมีพระโอรสสืบต่อราชบัลลังก์ จนในปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนานางสาวสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2468 ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีไม่สามารถให้กำเนิดพระบุตรได้ จึงมีการลดพระอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ลงเป็นพระวรราชชายาแทน และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะประสูติกาลพระบุตรในไม่ช้า ขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"
เมื่อครั้งที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวียังทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปีติโสมนัสเป็นอย่างพ้นประมาณ ทรงเฝ้ารอพระประสูติการของพระหน่อพระองค์แรกอย่างจดจ่อ ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบเพลงปลาทองไว้ล่วงหน้า ความว่า
   พระเอยพระหน่อนาถงามพิลาสดั่งดวงมณีใส
พระเสด็จจากฟากฟ้าสุราลัยมาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์
   ดอกเอยดอกจัมปาหอมชื่นจิตติดนาสา
ยิ่งดมยิ่งพาให้ดมเอยฯ
   หอมพระเดชทรงยศโอรสราชแผ่เผยผงาดในแดนไกล
พึ่งเดชพระหน่อไทเป็นสุขสมใจไม่วางวายฯ
   รูปละม้ายคล้ายพระบิตุราชผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวีเพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญฯ
   ดอกเอยดอกพุทธิชาตหอมเย็นใจใสสะอาด
หอมบมิขาดสุคนธ์เอยฯ
   หอมพระคุณการุณเป็นประถมเย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
เหล่าข้าทูลละอองภักดีสนองพระคุณไทฯ

แต่แล้วเมื่อใกล้พระประสูติการ ความชื่นบานทั้งหลายกลับกลายเป็นความกังวล เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ มีพระอาการรุนแรงขึ้นอย่างมิคาดฝัน ในยามนั้น พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[15] จนรุ่งขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต
พระนม (แม่นม) ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ คุณบุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดยตำแหน่ง เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 เสวยพระกษิรธาราจากพระชนนี มีคณะพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถวายอภิบาลในเบื้องต้น จากนั้นจึงมีคณะพระอภิบาลจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นอดีตคุณพนักงานในรัชกาลที่ 6 โดยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอภิบาลจนทรงเจริญพระวัยพอสมควร
พระนาม
พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้นได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) โดยก่อนหน้านี้มีการสมโภชได้มีการคิดพระนามไว้ 3 พระนาม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทาน
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จผ่านพิภพขึ้นสืบสนองพระองค์ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศเปลี่ยนคำนำพระนามสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้เป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ
จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทน ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงคำนำพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ แม้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ จะเป็นพระเชษฐภคินีผู้ทรงเจริญพระชนมายุสูงกว่า เนื่องจากคำว่า ภคินี แปลได้ทั้งน้องหญิงและพี่หญิง ดุจเดียวกัน จึงทรงพระนามตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ดังปรากฏในปัจจุบันว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ส่วนพระนามในภาษาอังกฤษตามทางราชการใช้ว่า "Her Royal Highness Princess Bejaratana"
เมื่อทรงพระเยาว์
หลังจากประสูติแล้วไม่นาน สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่น แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ
ขณะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”
ระหว่างทรงพระเยาว์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฎบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม
จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส ตำหนักแห่งนี้ประทานนามว่า สวนรื่นฤดี มีนายหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต)เป็นวิศวกร (ต่อมาได้ทรงขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองทัพบก)
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงพระอักษรเบื้องต้นโดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมเจ้าหญิงเสมอภาค โสณกุล, ครูพิศ ภูมิรัตน ฯลฯ จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) แล้วจึงทรงศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อาจารย์จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ ตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระชนนีที่วังรื่นฤดี
ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ
ต่อมาใน พ.ศ. 2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ผู้เป็นพระชนนีทรงเห็นว่าพระพลานมัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นักจึงนำพระธิดาไปทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ กล่าวคือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค ทั้งสองพระองค์ต้องประสบความยากลำบากนานับประการอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ โดยผู้ที่รับใช้ภายในพระตำหนักจะเป็นสตรีทั้งหมด
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอได้ทรงศึกษาวิชา
ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ และได้เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนประจำสตรีชื่อโรงเรียนซีเคร็ตฮาร์ต แคว้นเวลส์ ครั้นในช่วงเสด็จลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์และพระชนนีทรงมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยทรงโปรดให้เข้าเฝ้า และจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่างๆ ของชาวไทยอยู่เสมอ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร เป็นประจำ นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทนแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระชนนีได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

 นิวัตประเทศไทย

เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อปี พ.ศ. 2500 ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างวังในซอยสุขุมวิท 38 (ซอยสันติสุข) โดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในปี พ.ศ. 2501 เพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2502 ประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์ ส่วนในช่วงฤดูร้อนพระองค์จะเสด็จแปรที่ประทับไปยังตำหนักพัชราลัย ถนนเพชรเกษม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญดอกไม้และผลไม้ และสังเกตพระอนามัยของพระองค์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ มีการจัดตำรวจคอยอารักขาตลอดเวลา และทรงโปรดฯให้ห้องเครื่องสวนจิตรลดาจัดเครื่องเสวยมาทุกวัน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังจัดกรมวัง และสารถีมาปฏิบัติหน้าที่ประจำทั้งภายในวังที่ประทับ และจัดเจ้าหน้าที่มาตกแต่งสถานที่ และปฏิบัติในเวลาที่มีงานพิเศษ เช่น งานวันคล้ายวันประสูติ และการทรงบำเพ็ญพระกุศลอย่างสมพระเกียรติยศทุกประการ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเองก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน มาเฝ้าและคอยติดตามพระอนามัย และใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยเช่น คลุมพระบรรทมและปลอกพระเขนยที่สวยงาม รวมไปถึงการจัดดอกไม้ที่พระองค์ทรงโปรดมาไว้ที่ห้องพระบรรทม เพื่อให้ทรงชื่นพระทัย

 พระพลานามัยในปลายพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงมีพระอาการประชวรตามพระชันษา คณะแพทย์จากศิริราชพยาบาลได้ถวายการรักษาและเฝ้าระวังพระอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีพลเอกประพัทธ์ กุวานนท์ ราชองครักษ์ประจำพระองค์และเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์และเป็นพระญาติด้วย ได้ทำการรับสนองพระบัญชามาตลอด แต่ในปี พ.ศ. 2543 พลเอกประพัทธ์ กุวานนท์ ป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ เสนอชื่อของท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เข้ามาเป็นผู้ดูแลรับสนองพระบัญชาสืบต่อในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ และในกลางปีนั้นพลเอกประพัทธ์ก็ถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะจึงเข้ามาถวายงานในตำหนักรื่นฤดี และได้กรุณาให้สัมภาษณ์ถึงพระจริยวัตรในพระองค์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ซึ่งท่านผู้หญิงบุตรีเองก็เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพระเจ้าภคินีเธอด้วย
ในเวลาต่อมาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เริ่มมีพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน ทรงรับสั่งน้อยลง แต่ทรงทราบกิจทุกเรื่อง แต่พระอาการดังกล่าวทำให้พระวรกายด้านซ้ายขยับยาก คณะแพทย์ศิริราชจึงได้ถวายพระโอสถ มีนางพยาบาลมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และมีนักกายภาพบำบัดมาถวายการออกกำลัง
ต่อมาพระองค์ประชวรด้วยเส้นเลือดตีบทำให้พระองค์ไม่สามารถรับสั่งได้แต่ทรงเข้าพระทัยทุกอย่าง พระองค์จะทรงพยักพระพักตร์แสดงว่าทรงเข้าพระทัย ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ กล่าวถึงพระอาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีว่าทรงมีพระอาการดีขึ้น โดยมีนางสุรัสวดี กุวานนท์ แม็กซี่ พระภาคิไนยในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารเคยตามเสด็จไปอยู่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ได้กลับมาจากต่างประเทศ และรับหน้าที่ถวายการดูแลทูลเป็นภาษาอังกฤษกับพระองค์ได้คนเดียว ซึ่งเคยทูลภาษาอังกฤษความหมายว่า “หากไม่โปรดอาหารที่เสวย ก็ทรงคายออกเถอะ” พระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดี

สิ้นพระชนม์


การเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระราชพิธีสรงน้ำพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระโกศที่ประดิษฐานพระศพ
สำนักพระราชวังได้ประกาศพระอาการประชวรฉบับสุดท้ายว่า
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออก โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 37 นาที วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รวมพระชันษา 85 ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในสำนักพระราชวังไว้ทุกข์ มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรียังได้มีประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา กับทั้งให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ ทั้งนี้มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป (สำหรับการไว้ทุกข์ยกเว้นวันที่ 12 สิงหาคม) ซึ่งพระราชพิธีพระศพจะจัดให้สมพระเกียรติเช่นเดียวพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระราชพิธีพระศพ

 พระราชพิธีสรงน้ำพระศพ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 13.50 น.สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ตามด้วย​ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์เชิญพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จากโรงพยาบาลศิริราช สู่พระบรมมหาราชวัง  เวลา 16.55 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ยังพระที่นั่งพิมานรัตยาในพระบรมมหาราชวัง ในการราชทานน้ำสรงพระศพ ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยเสด็จด้วย ต่อมาเวลา 17.08 นาฬิกา รถยนต์พระที่นั่งมาถึงพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จ จากนั้นได้เสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งพิมานรัตยาในการสรงน้ำพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่พระโกศทองใหญ่ ประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทอง ภายใต้เบญจปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 5 ชั้น) ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งแต่วันที่จัดงานพระศพ 7 วัน เป็นต้นไป

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ดังนี้
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันที่ 2 - 3 สิงหาคม 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) ในวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) ในวันที่ 14 - 15 กันยายน 2554
  • พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ในวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2554

 พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555

 พระจริยวัตร


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรัดเกล้าพระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในส่วนพระจริยวัตรส่วนพระองค์นั้น ทรงแสดงความกตัญญูต่อพระบุพการี เช่น ทรงตั้งพระกระยาหารสังเวยแก่พระบรมอัฐิของพระชนก ทั้งเวลาเช้าและกลางวัน ครั้นเมื่อค่ำแล้วก็ทรงสวดมนต์ถวายพระราชกุศล และถวายพระราชสักการะด้วยดอกไม้ธูปเทียน ซึ่งทรงปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์  พระองค์ได้รับการปลูกฝังจากพระชนนีให้มีความกตัญญูต่อพระชนก ดังความตอนหนึ่งที่พระองค์เคยตรัสไว้กับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ ขณะเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ความว่า "...ฟ้าหญิงรักทูลกระหม่อมก๊ะมาก ชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นลูกทูลกระหม่อมก๊ะ และขอให้ได้เกิดเป็นคนไทย" รวมไปถึงการที่พระนางเจ้าสุวัทนาได้พระราชทานกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งไม่ใช้พระนามของพระองค์เองเนื่องจากเพื่อเป็นเกียรติแก่บรรพบุรุษ
พระองค์ทรงศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เคยเสด็จไปทรงศึกษาธรรมะกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  นอกจากนี้ยังมีพระอุปนิสัยทรงเคร่งครัดในการตรงต่อเวลา ทรงปฏิบัติพระกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาและไม่ทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ทรงประหยัดอดออมและโปรดความเรียบง่าย  ทั้งยังทรงนิยมและภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทย โปรดเครื่องใช้รวมถึงฉลองพระองค์ที่ผลิตภายในประเทศ เช่น ชุดผ้าไหม, ฉลองพระบาท, กระเป๋า และพระสุคนธ์ซึ่งทรงโปรดน้ำอบเป็นพิเศษ 
ส่วนการใช้ภาษาไทยนั้น ก็เป็นที่ทราบกันในหมู่ข้าราชบริพารว่าไม่โปรดให้ผู้ใดกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ ทรงรับสั่งด้วยวาจาอันสุภาพอ่อนโยน   และโดยส่วนพระองค์เองก็มีรับสั่งภาษาไทยถูกต้องชัดเจนเสมอ เช่น ทีวี ให้กราบทูลว่า โทรทัศน์, แอร์ ให้กราบทูลว่า เครื่องปรับอากาศ และล็อกประตู ให้กราบทูลว่า ลงกลอนประตู เป็นต้น  พระองค์จะมีรับสั่งภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสกับชาวต่างประเทศเท่านั้น
พระองค์ทรงใช้จ่ายทรัพย์ส่วนพระองค์อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ไม่โปรดให้ผู้ใดเปิดไฟไว้ล่วงหน้า และเมื่อเสด็จออกก็ปิดไฟด้วยพระองค์เอง  เมื่อครั้งที่พระองค์ยังมีสุขภาพเอื้ออำนวย ได้มีการบันทึกรายรับรายจ่ายส่วนพระองค์ไว้อย่างรอบคอบ
พระองค์ทรงโปรดการถักนิตติ้งมากที่สุด เมื่อครั้งที่ยังมีพระพลานามัยเอื้ออำนวย พระองค์ทรงถักไหมพรมพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และผ้าพันคอพระราชทานแก่ทหารและตำรวจที่ประจำการแถบภาคเหนือที่ต้องรักษาการท่ามกลางความหนาวเย็น   พระองค์โปรดการเล่นเปียโน สามารถเล่นเพลงที่สดับนั้นได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวโน้ต  ทรงโปรดการจัดดอกไม้และการจัดสวน ตั้งแต่ประทับในอังกฤษ และยังทรงมีอัจฉริยภาพในเรื่องความทรงจำและการคำนวณที่แม่นยำ เวลามีผู้เข้าเฝ้าจะรับสั่งถามถึงวันเดือนปีเกิดแล้วจะทรงบอกได้ว่า ตรงกับวันอะไร แต่เมื่อมีพระชันษาสูงได้มีผู้เข้าเฝ้าถามถึงการจำชื่อและวันเดือนปีเกิดที่เคยโปรดได้ไหม พระองค์จึงรับสั่งว่า "สมองฟ้าหญิงแก่แล้ว ทำ (คิดเลข) ไม่ได้แล้ว"  แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงใฝ่รู้อยู่เสมอ ทรงรับสั่งกับคุณหญิงศรีนาถ สุริยะ พระอาจารย์ที่เข้าเฝ้าประจำว่า "ฟ้าหญิงอยากเรียนหนังสือ" คุณหญิงศรีนาถจึงถวายบทเรียนง่ายๆ แก่พระองค์

 พระกรณียกิจสังเขป

นับแต่เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2502 พระกรณียกิจก็ได้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ ประกอบกับพระองค์มีพระชนมายุสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง เมื่อพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าเฝ้าและได้ปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เนืองๆ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า 30 แห่ง ทั้งในส่วนที่สืบสานจากสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในส่วนของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และโดยส่วนพระองค์เอง ทั้งในด้านการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนราชินีบูรณะ โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนศรียานุสรณ์ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนสายน้ำผึ้ง โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนเพชรรัชต์ โรงเรียนเพชรรัตนราชสุดา โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์เพชราวุธวิทยา โรงเรียนสยามธุรกิจ สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ โรงเรียนพณิชยการสยาม โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ฯลฯ การสาธารณสุข เช่น วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศิริราชพยาบาล ฯลฯ กิจการลูกเสือ-เนตรนารี และกิจการอาสาสมัครรักษาดินแดน ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชทานกำเนิด มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังทรงเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 6 เช่น พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี และ พระราชวังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อย่างไรก็ดี แม้ทุกวันนี้จะได้เสด็จออกไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนอกสถานที่น้อยลงเนื่องด้วยพระชนมายุที่สูงขึ้น แต่ก็ยังพระราชทานพระวโรกาสให้ผู้แทนองค์กรต่างๆ เฝ้ากราบทูลรายงานความก้าวหน้าพร้อมทั้งรับพระราชทานพระกรุณาโดยประการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังปรากฏในพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า
ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต
ที่มา:http://th.wikipedia.org/wiki